คลังเก็บป้ายกำกับ: มาตรฐาน

มาตรฐานปลั๊กไฟในประเทศไทย

     สวัสดีครับ หายไปนานพอสมควร วันนี้กลับมาอีกครั้งกับบทความที่น่าจะมีประโยชน์มากๆ บทความนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา ซึ่งเราต้องได้สัมผัสกันอยู่ทุกวัน แต่เรากลับไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนั้น วันนี้ผมได้เรียบเรียงข้อมูลหลายๆอย่างมาให้ได้รับทราบกัน

     ก่อนอื่นต้องเกริ่นก่อนว่าทุกวันนี้ทั่วโลก ต้องใช้ไฟฟ้า ซึ่งในแต่ละประเทศมีการกำหนดมาตรฐานไฟฟ้าไว้อย่างชัดเจน หลักๆกระแสไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วไป จะมีตั้งแต่ 100 – 240 V โดย 100 – 127 จะใช้กันในประเทศโซนอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ส่วน 220 – 240 V จะใช้กันในส่วนที่เหลือของโลกนี้ ในประเทศไทยเราใช้ไฟฟ้า 220 V

     เมื่อเราเห็นแล้วว่าทั่วโลกมีกระแสไฟฟ้าต่างกัน แล้วถ้าเกิดเราดันไปซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์จากญี่ปุ่นที่ใช้ไฟ 110 V แต่บ้านเราใช้ 220 V จะทำยังไงให้ใช้ได้ล่ะครับ ซึ่งแน่นอนปัญหานี้มีทางแก้ เจ้าตัวแก้ปัญหานี้คือ Adapter นั่นเอง อ่าวแล้วหน้าตามันเป็นอย่างไร ดูตามรูปข้างล่างเลยครับ ผมเชื่อว่าหลายๆคนอาจจะเคยเห็น และใช้บ่อยๆ แต่ไม่รู้ว่ามันมีเพื่ออะไร

     เจ้า Adapter หน้าตาแบบนี้เลยครับ คือจะมีปลั๊กไฟ 1 อัน แต่สายปลั๊กจะต้องผ่านกล่องดำๆ แล้วจะมีสายไฟเส้นเล็กๆ ปลายสายเป็นหัวแจ็คเล็กๆ ไว้เสียบกับอุปกรณ์พวก Notebook หรือ จอคอมพิวเตอร์

     Adapter มีหน้าที่ในการแปลงกระแสไฟฟ้าจาก 220 V บ้านเราเป็นกระแสไฟฟ้าตามที่อุปกรณ์ต่างๆต้องการครับ โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างอาจจะผลิตที่ญี่ปุ่น หรืออเมริกาแต่นำเข้ามาในไทย เขาจะใช้ Adapter เป็นตัวแปลงไฟ แต่ถ้าของที่ผลิตในไทยเลย ส่วนใหญ่จะไม่มีครับ สามารถเสียบใช้ได้เลย

     มีข้อควรระวังมากๆเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าที่แตกต่างกันในหลายๆประเทศครับ สำหรับคนที่ชอบเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ บางทีอาจนำอุปกรณ์ไฟฟ้าที่บ้านเราไปเสียบใช้กับที่นู้น แนะนำว่าก่อนเสียบควรจะดูก่อนว่าเต้าเสียบเขาปล่อยกระแสไฟฟ้ากี่ V ไม่งั้นอุปกรณ์ของท่านๆอาจจะกลับบ้านเก่าได้

    ต่อมาเมื่อมีกระแสไฟฟ้าแล้ว เราต้องมีปลั๊กไฟฟ้าเพื่อให้สามารถใช้ไฟฟ้าได้ โดยปลั๊กก็ไม่เหมือนกันอีกในแต่ละประเภท สามารถแบ่งได้ตั้งแต่ Type A จนถึง Type L และยังมียิบย่อยอีกมาก

     ตามรูปด้านบนเป็นลักษณะของปลั๊กประเภทหลักๆ บางอย่างเราอาจเคยเห็น แต่ก็มีอีกหลายที่เราไม่เคยเห็นครับ

     ปลั๊กแบบแรก Type A ส่วนใหญ่จะมีอยู่ในประเทศที่ใช้ไฟฟ้า 100-127 V อย่างอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ส่วนที่บ้านเราเห็นบ่อยเช่นกันครับ พวกอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ พัดลม หม้อหุงข้าว และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆของบ้านเราส่วนใหญ่จะเป็นประเภทนี้

     Type B อันนี้จะเหมือน Type A เพียงแต่มีสายรูสายดินเพิ่มขึ้นมา ซึ่งบ้านเราจะเห็นบ่อยตามพวก Computer ตู้เย็น Adapter Notebook โดยเต้าเสียบประเทศนี้มีสายดินเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าครับ หากเกิดไฟฟ้ารั่วขึ้นมามันจะไม่ดูดเราครับ ซึ่งบ้านที่สร้างใหม่ๆส่วนใหญ่เต้าเสียบจะเป็นประเภทนี้หมดแล้ว

     Type C ปลั๊กประเภทนี้ใช้กันแพร่หลายมากในยุโรป แอฟฟริกา รวมทั้งบ้านเราด้วยครับ โดยจะเป็นปลั๊กหัวกลมๆ

     ทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมานี้เป็น 3 เราใช้กันอยู่ทุกวันครับ แต่ทราบหรือไม่ว่า มันไม่ตรงตามมาตรฐาน มอก 166-2549 ที่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551 ซึ่งตาม มอก 166-2549 ระบุให้ปลั๊กที่ได้มาตรฐานในบ้านเราลักษณะจะเหมือน Type C แต่หัวปลั๊กจะใหญ่กว่านิดหน่อยเพื่อให้แน่นกับเต้าเสียบครับ โดยมีทั้งแบบไม่มีสายดิน และมีสายดิน หน้าตาตามรูปข้างล่างครับ

     ทำให้ผมแปลกใจมากกับปลั๊กไฟในบ้านเราปัจจุบันนี้ หน้าตาเป็นแบบนี้หรือเปล่าครับ ผมว่าคงไม่ใช่ แต่ทำไมยังมีของที่ไม่ผ่าน มอก.จัดจำหน่ายอยู่เพียบ ก็น่าคิดเหมือนกันครับกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของเรา

     แต่ทำไงได้ล่ะครับที่นี่ประเทศไทย อืมแต่ตอนนี้หลักจากผมเดินหาซื้อของตามห้าง อุปกรณ์หลายๆอย่างเริ่มใช้ Plug ตาม มอก. 166-2549 กันเยอะแล้ว แต่บางส่วนก็ยังเป็น Type A และ Type B อยู่ ครับ หลายๆคนคงไม่ชอบปลั๊กแบบ มอก. 166-2549 นี้เท่าไหร่เพราะเสียบอะไรมันก็หลวมใช่ไหมครับ ซึ่งแน่นอน เพราะเต้าเสียบที่ขายๆกันอยู่ทุกวันนี้ตามตลาดนัด คลองถม ไม่ผ่าน มอก.กันแทบทั้งนั้น คงไม่ต้องสงสัยกันมากครับ

     สุดท้ายนี้ซื้อสินค้า ควรมองหาสินค้าที่มี มอก. ไว้ก่อนจะดีที่สุดครับ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน สวัสดี

ที่มา 
http://en.wikipedia.org/wiki/AC_power_plugs_and_sockets
http://en.wikipedia.org/wiki/Mains_electricity_by_country
http://ftiweb.off.fti.or.th/standard/newsdetail.asp?id=375
https://law.resource.org/pub/th/ibr/th.cs.166.t.2549.pdf